อาการปวดแทรกซ้อนที่ควรรู้ หลังจากการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ?

อาการแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง

หลังจากภาวะโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองบางคนมักจะมีปัญหาเรื่องอาการเจ็บปวดร่วมด้วยเสมอ ซึ่งอาการปวดเหล่านี้อาจเกิดได้จาก ท่าทางที่ผิดปกติ การบาดเจ็บทางสมอง การขาดความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและร่างกาย การขาดการเคลื่อนไหว ปัญหาครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านจิตใจ หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด โดยประเภทของอาการเจ็บปวดสามารถเกิดได้หลากหลาย อาทิเช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่อ ปวดศรีษะ และปวดตามแนวของเส้นประสาท โดยอาการเจ็บปวดที่พบเห็นได้บ่อยคือ 

  • อาการปวดเกร็งและอาการปวดจากภาวะข้อติด

  • อาการปวดในข้อไหล่ ข้อไหล่ติด ข้อไหล่หลวม

  • อาการปวดจากระบบประสาทส่วนกลาง 

  • อาการปวดศรีษะ

  • อาการปวดจากการบวมตามปลายรยางค์

 

อาการปวดเกร็งและอาการปวดจากภาวะข้อติด : ความเสียหายของระบบประสาทหลังจากภาวะโรคหลอดเลือดสมองสามารถทำให้เกิดปัญหาสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อตามร่างกาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะชักนำให้เกิด ภาวะกล้ามเนื้อแข็งตัว ภาวะข้อต่อติด ภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวและภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดอย่างมาก โดยในผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหดเกร็งมาเป็นระยะเวลานาน หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหดสั้นลง กล้ามเนื้อฝ่อลีบและข้อต่อติดในที่สุด โดยจะมีอการปวดทรมานอย่างมากเมื่อทำการขยับกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อออกแบบการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกาย การขยับข้อต่อ เพิ่มความยืดหยุ่น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะข้อต่อติดและเลือกใช้กายอุปกรณ์เพื่อปรับเปลี่ยนท่าทางในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะข้อต่อติดแล้ว

 

อาการปวดในข้อไหล่ : อาการปวดข้อไหล่หรือภาวะข้อไหล่ติดมักจะเกิดได้ในด้านที่อ่อนแรงจากโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากรยางค์ด้านที่มีปัญหาจะมีอาการอ่อนแรงและเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าข้างปกติ โดยในผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อไหล่อ่อนแรง ติดขัด หรืออัมพาต มักจะถูกแรงดึงดูดจากพื้นโลกกระทำต่อข้อไหล่ในทิศทางดึงลงสู่พื้นดิน สร้างความเสียกับเยื่อหุ้มข้อและเอ็นกล้ามเนื้อจนกลายเป็นโรคข้อไหล่อักเสบ อาการปวดข้อไหล่เรื้อรัง และมีภาวะข้อไหล่ติดในที่สุด 

 

อาการข้อไหล่หลวม :  คือ การที่หัวของกระดูกต้นแขนมีการเคลื่อนออกจากเบ้ากระดูกสะบัก เกิดเป็นภาวะข้อไหล่หลวม แต่ยังไม่หลุดออกจากกัน สาเหตุหลักๆเกิดจากกลุ่มกล้ามเนื้อรอบๆข้อไหล่มีการอ่อนแรงเพราะโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณไหล่ไม่สามารถทำหน้าที่ดึงกระดูกต้นแขนและกระดูกสะบักให้ติดกันไว้ได้ การป้องกันภาวะปวดในข้อไหล่สามารถทำได้โดยการปรึกษาทีมแพทย์และทีมฟื้นฟู อาจมีการเลือกใช้กายอุปกรณ์เพื่อพยุงแขนและสะบักให้อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของข้อไหล่ เส้นเอ็น กลุ่มกล้ามเนื้อไหล่และลดแรงดึงดูดที่กระทำต่อข้อต่อ ในส่วนของกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดอาจให้การรักษาโดยใช้กระแสไฟฟ้าบำบัดกระตุ้นบริเวณข้อไหล่ เพื่อลดอาการปวดและเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ร่วมกับการให้โปรแกรมการออกกำลังกาย  ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อ และกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะข้อไหล่ติดในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

 

อาการปวดจากระบบประสาทส่วนกลาง : โรคหลอดเลือดสมองมักสร้างความเสียหายกับส่วนใดส่วนหนึ่งของสมองเสมอ ทำให้การทำงานและการรับความรู้สึกของสมองบกพร่องและแสดงออกในด้านที่มีพยาธิสภาพ เกิดเป็นการรับรู้ความรู้สึกปวดทางระบบประสาทบนร่างกายในด้านที่อ่อนแรง โดยการปวดอาจมีได้หลากหลายประเภทด้วยกัน อาทิเช่น ปวดแสบปวดร้อน ปวดตุบๆ ปวดแหลม ปวดแปล๊บ ปวดชา เป็นต้น อาการปวดเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีเมื่อผู้ป่วยเริ่มมีภาวะโรคหลอดเลือดสมอง โดยวิธีการรักษาอาการปวดทางระบบประสาท ทีมแพทย์และทีมฟื้นฟูจะใช้ยาร่วมกับการรักษาโดยใช้ไฟฟ้าบำบัดเข้ามาช่วยลดอาการปวดดังกล่าว

 

อาการปวดศรีษะภายหลังการมีภาวะโรคหลอดเลือดสมอง : อาการปวดศรีษะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด โรคหลอดเลือดสมองแบบแตก (เลือดออกในสมอง) ภาวะน้ำคั่งในสมอง หรือบางสาเหตุอาจมีมาก่อนหน้าตัวโรคแล้ว อาทิเช่น ไมเกรน ความเครียด หรือการนอนหลับและพักผ่อนไม่เพียงพอ เพื่อหาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดศรีษะ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษากับทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรับรักษาที่ตรงจุดและประสิทธิภาพ

 

อาการปวดจากการบวมตามปลายรยางค์ :  อาการบวมเกิดขึ้นได้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่ได้ขยับรยางค์ต่างๆและร่างกายมาเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้การไหลเวียนของสารน้ำและโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ไม่ดีและมีการตกค้างในปลายรยางค์ต่างๆ เกิดภาวะบวมของสารน้ำและโลหิตและทำให้เกิดอาการปวดในปลายรยางค์ต่างๆของร่างกาย เมื่อมีอาการบวมและปวดมากอาจนำไปสู่การจำกัดการเคลื่อนไหวหรือภาวะข้อติดในที่สุด โดยวิธีการลดอาการบวมตามรยางค์ต่างๆทำได้โดยการยกส่วนที่บวมให้เหนือระดับของหัวใจ สามารถทำได้ในท่านอนขณะกำลังนอนหลับ และควรปรึกษากับนักกายภาพบำบัดเพื่อออกแบบโปรแกรมการออกกกำลังกายเพื่อลดอาการบวม

 

โปรแกรมการจัดการอาการปวดสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ในระยะยาว และยังช่วยเพิ่มคุณภาพการใช้ชีวิต โดยการปรึกษากับทีมแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด คือหนทางที่ดีสำหรับการรับการรักษาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพที่สุด ตามหลักการรักษาสุขภาพแบบองค์รวม

  • แชร์

แพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง